วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

วันจักรี

วันจักรี


เป็นวันที่ระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์


ประวัติการตั้งชื่อวันจักรีมี ว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย มาจนทุกวันนี้

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ( ร.1-4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น

ในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 (ร.1-4) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5? พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรด ฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่า วันจักรี

ตราราชวงศ์จักรี และพระราชลัญจกร ประจำพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่างๆ
ราชวงศ์จักรี
ตราราชวงศ์จักรี

ตราประจำรัชกาลที่ ๑

“มหาอุณาโลม” เป็นตรางา
ลักษณะกลมรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ “อุ” อยู่ตรงกลาง
(“อุ” มีลักษณะ เป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า “ด้วง”)
ตรามหาอุณาโลมนี้ หมายถึงตาที่สามของพระอิศวร ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ ล้อมด้วยกลีบบัว ซึ่งเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคล ทางพระพุทธศาสนา


ตราประจำรัชกาลที่ ๒
“ครุฑจับนาค” เป็นตรางา
ลักษณะกลม รูปครุฑจับนาค เนื่องจากพระนามเดิมคือ “ฉิม” ซึ่งตามความหมายของวรรณคดีไทยเป็นที่อยู่ของพญาครุฑ


ตราประจำรัชกาลที่ ๓

“มหาปราสาท” เป็นตรางา
ลักษณะกลม รูปปราสาท เนื่องจากพระนามเดิมคือ “ทับ” ซึ่งหมายถึงที่อยู่หรือเรือน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระลัญจกรเป็นรูปปราสาท


ตราประจำรัชกาลที่ ๔

“พระมหาพิชัยมงกุฎ” เป็นตรางา ลักษณะกลมรี รูปพระมหามงกุฎ (ตามพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ) อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรปริวาร ๒ ข้าง มีพานทอง ๒ ชั้น วางพระแว่นสุริยกานต์ หรือ เพชรข้างหนึ่ง (พระแว่นสุริยกานต์ หรือ เพชร หมายถึง พระฉายา เมื่อทรงผนวชว่า วชิรญาณ)
อีกข้างหนึ่ง วางสมุดตำรา (หมายถึง ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์ และดาราศาสตร์)


ตราประจำรัชกาลที่ ๕

“พระจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยว” เป็นตรางา
ลักษณะกลมรี กว้าง ๕.๕ ซ.ม. ยาว ๖.๘ ซ.ม. มีรูปพระเกี้ยวยอดมีรัศมีประดิษฐานบนพานทอง ๒ ชั้น (หมายถึงพระเกี้ยวเจ้าฟ้าในคราวโสกัณฑ์) เคียงด้วยฉัตรปริวาร ๒ ข้าง ที่ริมขอบทั้ง ๒ ข้าง มีพานทอง ๒ ชั้น วางพระแว่นสุริยกานต์ หรือเพชรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่ง วางสมุดตำรา(เป็นการเจริญรอยจำลอง พระราชลัญจกร ของรัชกาลที่ ๔)


ตราประจำรัชกาลที่ ๖

“มหาวชิราวุธ” เป็นตรางา
ลักษณะกลมรี กว้าง ๕.๕ ซ.ม. ยาว ๖.๘ ซ.ม. รูปวชิราวุธ มีรัศมีประดิษฐานบนพานทอง ๒ ชั้น ตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรปริวาร ๒ ข้าง (รูปตรานี้ใช้ตามพระนามของพระองค์ คือ วชิราวุธ ซึ่งหมายความถึงศัตราวุธของพระอินทร์)
ตราพระราชลัญจกรนี้ สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน


ตราประจำรัชกาลที่ ๗

“พระไตรศร” เป็นตรางา ลักษณะกลมรี กว้าง ๕.๔ ซม. ยาว ๖.๗ ซม. รูปราวพาดพระแสงศร ๓ องค์
คือ พระแสงศรพรหมศาสตร์, พระแสงศรอัคนีวาต และพระแสงศรประลัยวาต
(เป็นศรของพระพรหม, พระนารายณ์ และของพระอิศวร ซึ่งใช้ตามความหมายของพระนามเดิมคือ “ประชาธิปกศักดิเดชน์” คำว่า “เดชน์” แปลว่า “ลูกศร”) เบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูร อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มีบังแทรกตั้งอยู่ ๒ ข้าง มีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น
ตราพระราชลัญจกรนี้ สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน

ตราประจำรัชกาลที่ ๘

“รูปพระโพธิสัตว์” เป็นตรางา
ลักษณะกลมศูนย์กลางกว้าง ๗ ซ.ม. รูปพระโพธิสัตว์ประทับบน
บัลลังก์ดอกบัวห้อยพระบาทขวาเหยียบบัวบาน หมายถึงแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีเรือนแก้วด้านหลังแท่นรัศมี มีแท่น
รองรับตั้งฉัตร บริวาร ๒ ข้าง (รูปพระโพธิสัตว์นี้เดิมเป็นตราประจำในพระราชวังดุสิต) เป็นสัญลักษณ์ปรมาภิไธยว่า อานันทมหิดล แปลความหมายว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน
ตราพระราชลัญจกรนี้ สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน


ตราประจำรัชกาลที่ ๙

“พระแท่นอัฏทิศ อุทุมพรราชอาสน์” เป็นตรางา ลักษณะรูปไข่ กว้าง ๕ ซ.ม. สูง ๖.๗ ซ.ม.
รูปพระที่นั่งอัฎทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระ “อุ” รอบๆ มีรัศมี
(วันบรมราชาภิเษกได้เสด็จได้เสด็จประทับที่นั่งอัฎทิศ)
แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน
ตราพระราชลัญจกรนี้ สร้างขึ้นเมื่อวันบรมราชาภิเษก สำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน

พระราชประวัติ 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2327 – 2352)
พระนามเดิม ทองด้วง เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี) ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2378 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ ได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในพ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้กู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เข้ารับราชการกับ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ ศึก ใน พ.ศ. 2319

        พ.ศ. 2325 เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้น ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ใน พ.ศ. 2327 พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ในรัชกาลได้แก่การสงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ หลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2327 การปกครองประเทศทรงจัดแบ่งตามแบบกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้ ชำระกฎหมายบทต่างๆ ให้ถูกต้องและจารลงสมุดไว้เป็นหลักฐาน 3 ฉบับ

        ทางด้านศาสนา โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. 2331 และจารฉบับทองประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปต่างๆ เป็นอันมาก

        ทางด้านวรรณคดีและศิลปกรรม ทรงฟื้นฟูวรรณคดีไทยซึ่งเสื่อมโทรมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกให้ กลับคืนดีอีกวาระหนื่ง ทรงส่งเสริมและอุปถัมภ์กวีในราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น งานทางด้านศิลปกรรมนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้าง พระอารามเป็นจำนวนมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือด้านต่างๆ มีงานทำและได้ผลิตงานฝีมือชิ้นเอกไว้

    ปัจจุบันมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลก คือ วันที่ระลึกมหาจักรี ได้แก่วันที่ 6 เมษายนของทุกปี จะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า





ที่มา : http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4451.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น